สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคเช้า) ประจำวันที่ 23 กรกฎาคม 2562

ข่าว

สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคเช้า) ประจำวันที่ 23 กรกฎาคม 2562

23 กรกฎาคม 2562

· ค่าเงินดอลลาร์และค่าเงินยูโรค่อนข้างทรงตัวเมื่อวานนี้ โดยเหล่าเทรดเดอร์รอคอยการตัดสินใจของที่ประชุมเฟดและอีซีบีว่าจะเร่งรีบและปรับลดดอกเบี้ยอย่างไร ซึ่งอีซีบีจะเป็นเจ้าแรกที่ประชุมเกี่ยวกับนโยบายการเงินในวันพฤหัสบดีนี้



เหล่าเทรดเดอร์มองโอกาส 46% ที่จะเห็นอีซีบีปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 0.1% สู่ระดับ -0.5% เพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางการค้า ประกอบกับการสนับสนุนเงินเฟ้อในภูมิภาค ดังนั้นจึงมีโอกาสสูงที่การปรับลดดอกเบี้ยแดนลบมากขึ้นของอีซีบีจะกลายมาเป็นปัจจัยกดดันให้ยูโรอ่อนค่ามากขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์



สำหรับค่าเงินดอลลาร์ดูจะถูกกดดันจากโอกาสที่เฟดจะทำการปรับลดดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี โดยดัชนีดอลลาร์อ่อนค่ากลับลงมาที่ 97.2 จุด ท่ามกลางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นอายุ 2 ปีที่ปรับตัวลงสู่ 1.801%



ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงเล็กน้อยแตะ 1.1215 ดอลลาร์/ยูโร ซึ่งเป็นการรีบาวน์กลับได้หลังไปทำ Low สุดบริเวณ 1.1207 ดอลลาร์/ยูโร



· เครื่องมือ FedWatch ชี้ มีโอกาส 72% จาก 76% ที่จะเห็นเฟดลดดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมสิ้นเดือนนี้ ขณะที่มีโอกาสเพียง 28% ที่จะเห็นเฟดลดดอกเบี้ยมากถึง 0.5% ซึ่ง ณ ปัจจุบันเฟดมีกรอบอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.25 – 2.50%




· เมื่อวานนี้ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้ซึ่งตำหนิแนวทางการดำเนินนโยบายของเฟดมามากถึง 4 ครั้งในปีนี้ โดยเมื่อวานนี้เขายังคงย้ำว่าเฟดควรลดดอกเบี้ยเยอะๆในการประชุม 30-31 ก.ค.

· ที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจจาก Pimco กล่าวว่า สหรัฐฯมีแนวโน้มจะได้รับชัยชนะจากสงครามเย็นค่าเงิน หรือ Cold Currency War ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มจะอ่อนค่ามากกว่าจะแข็งค่าจากระดับปัจจุบัน

ซึ่งสงครามเย็นค่าเงินดังกล่าวมาจากความขัดแย้งที่ไม่ได้เกี่ยวข้อกับการแทรกแซงตลาดแลกเปลี่ยนของบรรดาธนาคารกลาง แต่มาจากการที่ธนาคารกลางเลือกใช้นโยบายดอกเบี้ย และอัตราดอกเบี้ยเชิงลบ อาทิยุโรป และญี่ปุ่น รวมไปถึงการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน และการควบคุม Yield Curve



และค่อนข้างเป็นที่แน่ชัดว่าสถานการณ์การในขณะนี้ ทุกฝ่ายต้องการที่จะเห็นค่าเงินอ่อนค่า และไม่มีใครหรือธนาคารกลางคนใดที่ต้องการเห็นค่าเงินแข็งค่า ดังนั้น นี่จึงเป็นเหตุผลที่เกิดภาวะ Cold Currency War ที่ดูจะรุนแรงขึ้นจากการที่เฟดและบีโอเจมีแนวโน้มจะปรับลดดอกเบี้ยในเร็วๆนี้ ขณะที่บรรดานักวิเคราะห์ก็คาดว่าจะเห็นอีซีบีคงนโยบายในการประชุมวันพฤหัสบดีนี้ แต่จะมีการปรับลดดอกเบี้ยในช่วงปลายปีนี้



· นักวิเคราะห์จาก Morgan Stanley คาดการณ์ โอกาส 20% ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯจะเข้าสู่ภาวะชะลอตัวภายในปีหน้า แต่ตัวเลขดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงยิ่งขึ้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของความขัดแย้งทางการค้า



สำหรับสัญญาณว่าเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะชะลอตัว จะเริ่มเห็นได้จากปริมาณอุปสงค์ของภาคผู้บริโภคที่เริ่มชะลอตัว ขณะที่ภาคผู้ผลิตจะมีการปลดพนักงานออกมากขึ้น และการลดดอกเบี้ยของเฟดอาจไม่สามารถช่วยหนุนเศรษฐกิจจากการชะลอตัวได้ตามที่หลายๆฝ่ายคาดหวัง



หากตลาดเริ่มรู้สึกถึงสัญญาณการชะลอตัว อาจส่งผลให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯจากปี 2019 ที่คาดการณ์ไว้ 2.2% ลดลงเหลือ -0.1% ภายในปี 2020 แม้จะเป็นการชะลอตัวที่ไม่มากนัก แต่เมื่อเทียบกับปี 2018 ที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ 2.9% ก็ถือว่าเป็นการกลับตัวของทิศทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญ



สำหรับภาคการลงทุน โดยเฉพาะในตลาดหุ้น คาดการณ์ว่าหุ้นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบทางลบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจมากที่สุด คือกลุ่มยานยนต์และเทคโนโลยี ขณะที่หุ้นตั้งรับอย่างหุ้นกลุ่มสุขภาพและกลุ่มผู้บริโภค ดูจะเป็นกลุ่มที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับการลงทุนในหุ้นท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว



นอกจากนี้ Morgan Stanley ไม่ใช่องค์กรเดียวที่ส่งสัญญาณเตือนถึงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยมาตรวัดการชะลอตัวของเศรษฐกิจโดยเฟดสาขานิวยอร์ก ที่วิเคราะห์โดยใช้ spread ระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ประเมินโอกาส 33% ที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะชะลอตัวในอีก 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ผ่านพ้นวิกฤติทางเศรษฐกิจเมื่อช่วงกลางปี 2009



· ภายในสัปดาห์นี้ รัฐสภาอังกฤษจะมีการประกาศชื่อผู้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่อย่างเป็นทางการ โดยเมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมาเป็นวันสุดท้ายที่พรรค Conservative เปิดรับชื่อของผู้ชิงตำแหน่งนายกฯจากบรรดา ส.ส. ซึ่งผู้ที่มีโอกาสได้รับตำแหน่งผู้นำพรรคและนายกรัฐมนตรีมากที่สุดคือนายบอริส จอห์นสัน อดีตรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ รองลงมาคือนายเจเรมี ฮันท์ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศคนปัจจุบัน

· นายเจเรมี ฮันท์ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ เรียกร้องให้เกิดการปฏิบัติการในระดับสหภาพยุโรป เพื่อต่อต้านการกระทำของอิหร่านและเพื่อรักษาความปลอดภัยของเส้นทางขนส่งน้ำมัน หลังจากที่อิหร่านเข้ายึดเรือบรรทุกน้ำมันของอังกฤษเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยทางอังกฤษประนามการกระทำอิหร่านว่าเป็นการกระทำของ “พวกโจรสลัด”



· ราคาน้ำมันดิบปิดปรับตัวขึ้นได้เกือบ 1% ท่ามกลางกลุ่มนักลงทุนที่วิตกกังวลต่อความเป็นไปได้เกี่ยวกับภาวะอุปทานน้ำมันจะได้รับแรงกดดันจากความตึงเครียดในตะวันออกกลางจากกรณีที่อิหร่านเข้ายึดเรือบรรทุกน้ำมันอังกฤษในสัปดาห์ที่ผ่านมา

น้ำมันดิบ Brent ปิดปรับขึ้น 66 เซนต์ หรือ +1.02% ที่ระดับ 63.11 เหรียญ/บาร์เรล ทางด้านน้ำมันดิบ WTI ปิดปรับขึ้น 59 เซนต์ หรือ +1.1% ที่ระดับ 56.22 เหรียญ/บาร์เรล



รายงานจาก CNBC ระบุว่า บรรดานักลงทุนมีการนำเม็ดเงินลงทุนกลับสู่ตลาดน้ำมันดิบอีกครั้งตอบรับความตึงเครียดระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯและประเทศตะวันตกต่างๆ ควบคู่กับสัญญาณอุปทานน้ำมันที่ลดลง



ทางด้าน Goldman Sachs ปรับลดคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันดิบปีนี้ลงสู่ระดับ 1.275 ล้านบาร์เรล/วัน จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกที่ออกมาน่าผิดหวัง



· นักวิเคราะห์จาก RBC ระบุว่า ท่ามกลางข่าวเกี่ยวกับการที่กองทัพอิหร่านยึดเรือบรรทุกน้ำมันของอังกฤษ ส่งผลให้เกิดเป็นความตึงเครียดที่รุนแรงในพื้นที่ตะวันออกกลาง แต่ราคาน้ำมันในภาพรวมกลับไม่ปรับขึ้นมากเท่าที่ควร



ทั้งนี้ เป็นเพราะว่าตลาดให้ความสำคัญกับปริมาณการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปริมานอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกที่อ่อนแอจากสงครามการค้า ราคาน้ำมันจึงไม่สามารถใช้เป็นมาตรวัดความตึงเครียดในพื้นที่ตะวันออกกลางได้อีกต่อไปเหมือนในอดีต แต่จะขึ้นอยู่กับเรื่องของปริมาณอุปทานเป็นสำคัญ โดยมีสหรัฐฯเป็นผู้ผลิตน้ำมันมากที่สุดอันดับ 1 รองลงมาคือรัสเซียเป็นอันดับ 2 และซาอุดิอาระเบียเป็นอันดับ 3 ซึ่งทั้ง 2 ประเทศกำลังพยายามควบคุมกำลังการผลิตของน้ำมันของตนเองเพื่อช่วยหนุนราคาน้ำมัน


บริษัท เอ็มทีเอส แคปปิตอล จำกัด
10,12,14 ชั้น 3 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
Copyright © 2014 MTS Capital Co., Ltd. All right reserved