สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคเช้า) ประจำวันที่ 24 กรกฎาคม 2562

ข่าว

สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคเช้า) ประจำวันที่ 24 กรกฎาคม 2562

24 กรกฎาคม 2562


· ค่าเงินดอลลาร์ปรับแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ทำระดับสูงสุดรอบ 5 สัปดาห์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ หลังจากที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯและสมาชิกสภาคองเกรสบรรลุข้อตกลงขยายเพดานหนี้เป็นระยะเวลา 2 ปี ที่จะช่วยยกระดับการจำกัดการกู้ยืมของภาครัฐบาลอันครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ



นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์ยังได้รับแรงหนุนจากการที่ IMF มีการปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2019 แม้ว่าจะปรับลดแนวโน้มเศรษฐกิจโลกก็ตาม และยังมีรายงานจาก Bloomberg ที่ระบุว่า ผู้แทนเจรจาการค้าสหรัฐฯจะกลับมาพบกับจีนอีกครั้งในวันจันทร์หน้า โดยเป็นการเจรจาแบบเผชิญหน้ากัน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กลับมาช่วยหนุนดอลลาร์



ดัชนีดอลลาร์ปิด +0.47% ที่ระดับ 97.716 จุด หลังจากไปทำระดับสูงสุดรอบ 5 สัปดาห์ที่ 97.718 จุด



· ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงจากกลุ่มนักลงทุนที่ตอบรับกระแสข่าวที่ว่าอีซีบีจะเดินหน้าปรับลดนโยบายดอกเบี้ย โดยตลาดคาดว่าจะเห็นอีซีบีหั่นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงอีก 0.1% แต่นักวิเคราะห์กลับคาดว่าอีซีบีน่าจะส่งสัญญาณชี้นำในเชิงผ่อนคลาย รวมทั้งความเป็นไปได้เกี่ยวกับแผนการกู้ยืมในอีกหลายปีจากนี้



ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงที่ระดับ 1.1148 ดอลลาร์/ยูโร เป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่ 31 พ.ค. และภาพรวมปิด -0.52% ที่ระดับ 1.1150 ดอลลาร์/ยูโร



· ค่าเงินปอนด์ร่วงลงตอบรับข่าวที่นายบอริส จอห์นสัน จะเป็นผู้นำอังกฤษคนต่อไป ซึ่งเขาเคยให้สัญญาว่าจะออกจากอียูโดยปราศจากข้อตกลงในช่วงสิ้นเดือนต.ค.นี้ จึงเห็นเงินปอนด์อ่อนค่าต่อโดยปิด -0.31% ที่ 1.244 ดอลลาร์/ปอนด์ ใกล้กับระดับต่ำสุดที่ทำไว้ในสัปดาห์ที่แล้วที่ 1.2382 ดอลลาร์/ปอนด์ ซึ่งเป็นต่ำสุดรอบ 27 เดือน

· ข้อตกลงขยายเพดานหนี้สินของสหรัฐฯจะส่งผลให้ภาครัฐสามารถเพิ่มค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 7.5 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งเป็นมูลค่าที่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าทีมบริหารประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการ ขณะที่เพดานงบประมาณรายปีจะขยายตัวสู่ระดับ 3.20 แสนล้านเหรียญภายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งเป็นมูลค่าที่น้อยกว่าที่ฝั่งเดโมแครตต้องการประมาณ 3.0 หมื่นล้านเหรียญ


สำหรับยอดเกินดุลของรัฐภายใต้ข้อตกลงตัวนี้ มีแนวโน้มที่จะขยายตัวเหนือระดับ 1 ล้านล้านเหรียญภายในปี 2020

· ทีมตัวแทนการเจรจาการค้าของสหรัฐฯจะเดินทางไปยังประเทศจีน ภายในช่วงวันศุกร์สัปดาห์นี้จนถึงวันพฤหัสบดีสัปดาห์หน้า เพื่อสานต่อการเจรจาการค้าร่วมกับประเทศจีน ขณะที่สภาคองเกรสหรัฐฯจะเข้าสู่ช่วงวันหยุดยาวเป็นเวลา 6 สัปดาห์ในวันศุกร์นี้


แม้การเจรจาที่กำลังจะเกิดขึ้นถือเป็นอีกก้าวสำคัญของความสัมพันธ์ทางการค้าของทั้งสองประเทศ แต่ยังไม่มีวี่แววว่าข้อตกลงทางการค้าจะเกิดขึ้นภายในระยะเวลาอันสั้น ทั้งนี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เคยส่งสัญญาณว่า ยินดีที่จะผ่อนคลายมาตรการกดดันบริษัท Huawei แลกกับการที่จีนเข้าซื้อสินค้าการเกษตรจากสหรัฐฯมากขึ้น



สำหรับในระยะยาว สหรัฐฯเคยสัญญาณไว้ในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาว่า พวกเขาสามารถยกเลิกการขึ้นภาษีได้ หากจีนปฏิบัติตามข้อตกลงได้อย่างเคร่งครัด


· คณะกรรมาธิการการค้าของยุโรป กล่าวในรัฐสภายุโรป โดยระบุว่า อียูจะทำการตอบโต้สหรัฐฯด้วยการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯเป็นมูลค่า 3.5 หมื่นล้านยูโร หรือคิดเป็น 3.91 หมื่นล้านเหรียญ หากสหรัฐฯต้องการขึ้นภาษีรถยนต์ยุโรป ซึ่งทางอียูจะไม่ยอมรับให้ใครมาจัดการทางการค้า, โควตา หรือใช้อำนาจในการควบคุมการส่งออก ซึ่งหากมีการขึ้นภาษีจริง ทางอียูก็จะดำเนินการตอบโต้ แต่อียูก็คาดหวังว่าจะไม่ได้ใช้มาตรการตอบโต้ดังกล่าว


· กรณีความขัดแย้งทางการค้าระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่เกิดจากการที่ญี่ปุ่นจำกัดการส่งออกสารเคมี 3 ประเภทที่ใช้ในการผลิตหน้าจอแสดงผลและเซมิคอนดักเตอร์ไปยังเกาหลีใต้ อาจส่งผลกระทบให้ราคาโทรศัพท์มือถือปรับสูงขึ้นได้ โดยเฉพาะผู้ผลิตรายใหญ่ของเกาหลีใต้อย่าง Samsung และ SK Hynix ที่อาจดำเนินกระบวนการผลิตไม่ทันเป้าหมายที่กำหนดไว้ และผลกระทบครั้งนี้ อาจต่อเนื่องไปยังผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือรายอื่นๆ อย่าง Apple และ Huawei ด้วยเช่นกัน

· รายงานล่าสุดของกองทุน IMF มีการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้ลงสู่ระดับ 3.2% จากคาดการณ์เดิม 3.3% ขณะที่ปีหน้าคาดจะลดลงมาที่ 3.5% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.6% ซึ่งโดยภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังมีสัญญาณชะลอตัว ดังนั้น IMF จึงขอเรียกร้องเป็นการด่วนสำหรับการลดปัญหาความตึงเครียดทางการค้าและด้านเทคโนโลยี

อย่างไรก็ดี IMF ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจอังกฤษจาก 1.2% มาที่ระดับ 1.3% ในปีนี้ จากรายงานเศรษฐกิจช่วง 3 เดือนแรกที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง ขณะที่ปีหน้าคาดโตได้ 1.4% แต่ IMF ก็กล่าวย้ำว่า การออกจาก Brexit แบบ No-Deal ถึงเป็น 1 ในความเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกเช่นกัน เพราะไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน หรือ Brexit ก็ดูจะบั่นทอนความเชื่อมั่น และทำให้ภาคการลงทุนอ่อนตัว และกระทบต่อภาวะห่วงโซ่อุปทานของโลก และนั่นจะนำมาสู่การชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลก



นอกจากนี้ IMF ยังปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯลง อันเนื่องมาจากนโยบายปรับลดภาษีดูจะค่อยๆลดบทบาทไป โดยคาดว่าจะเห็นเศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัวลงสู่ 1.9% ในปีหน้า หลังจากที่ขยายตัวได้ 2.9% ในปี 2018 ที่ผ่านมา ขณะที่ปีนี้คาดจะขยายตัวได้ 2.6% และมีสัญญาณชะลอตัวลงต่อในช่วงที่เหลือของปี



ทางด้านเศรษฐกิจจีนที่เป็นเป้าหลักของสหรัฐฯในการดำเนินการทางการค้าก็มีแนวโน้มชะลอตัวลงด้วยเช่นกัน เพราะนอกจากจะได้รับผลกระทบเชิงลบจากภาษีการค้า ยังส่งผลให้อุปสงค์จากต่างประเทศอ่อนตัว จึงเป็นความเสี่ยงที่จะเห็นเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง ซึ่ง IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจจีนปีนี้และปีหน้าโดยหั่นลง 0.1% สู่ระดับ 6.2% ปีนี้ และ 6.0% ในปีหน้า



· ราคน้ำมันปรับสูงขึ้นประมาณ 1% ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ว่า ปริมาณสต็อกน้ำมันของสหรัฐฯจะปรับลดลง แม้จะมีแรงกดดันมาจากแนวโน้มที่ปริมาณอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกจะอ่อนแอลง และข่าวที่ว่าลิเบียกลับมาขุดเจาะน้ำมันอย่างเต็มกำลังในแหล่งน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของลิเบียก็ตาม



ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบ Brent ปิด +67 เซนต์ ที่ 63.94 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิด +1% ที่ 56.77 เหรียญ/บาร์เรล



ราคาน้ำมันมีโอกาสปรับสูงขึ้นต่อได้อีก หากปริมาณสต็อกน้ำมันของสหรัฐฯปรับลดลงตามคาด โดยนักวิเคราะห์คาดว่าสหรัฐฯจะมีปริมาณน้ำมันลดลง 3.4 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา


บริษัท เอ็มทีเอส แคปปิตอล จำกัด
10,12,14 ชั้น 3 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
Copyright © 2014 MTS Capital Co., Ltd. All right reserved